สัพพปาปัสสะ อกรณัง กุสลัสสูปสัมปทา สจิตตปริโยทปนัง เอตัง พุทธานสาสนัง สัพพปาปัสสะ อกรณัง( เว้นจากความชั่วทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา ใจ)
กุสลัสสูปสัมปทา( ทำความดีให้ถึงพร้อมด้วย กาย วาจา ใจ)
สจิตตปริโยทปนัง( ชำระใจของตนให้ผ่องแผ้วหมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง เช่น กิเลส และ นิวรณ์ เป็นต้น)
เอตัง พุทธานสาสนัง( พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ทรงสอนแบบนี้เหมือนกันหมด )

พระธรรมเทศนา เรื่อง โอวาทปาติโมกข์ โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
แสดงเมื่อ วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม 2523
(ผมตัดตอนมานะครับ อยากอ่านฉบับเต็มดูที่แหล่งข้อมูลด้านล่างครับ)....คาถาตามภาษาบาลี ที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า สัพพปาปัสสะ อกรณัง กุสลัสสูปสัมปทาสจิตตปริโยทปนัง เอตัง พุทธานสาสนัง เป็นอันว่าเวลานั้นพระพุทธเจ้าอยู่ในเมืองแขก ก็พูดภาษาแขกถ้าจะแปลเป็นภาษาไทย ท่านตรัสอย่างนี้ว่า
1.
สัพพปาปัสสะ อกรณัง ซึ่งแปลเป็นใจความว่า เวลาที่เธอไปสอนเขา จงแนะนำให้บุคคลทั้งหมด งดจากความชั่วทุกอย่าง ขึ้นชื่อว่า ความชั่วทุกอย่าง จงอย่าทำ แต่สิ่งที่ควรเว้นในด้านของความชั่วจะไปอบายภูมิ นั่นก็คือ อย่าให้ละเมิด ศีล 5 เป็นเรื่องสำคัญ อันดับแรกยกศีล 5 ขึ้นมาเป็นที่ตั้ง อันดับที่สองแนะนำให้ทุกคนรักษากฎหมายในประเพณีนิยม ของในเขตนั้น ๆ ว่าเป็นการละเมิดกฎหมายประเพณีนิยมก็ดี เป็นความไม่ดี การละเมิดศีล 5 ก็ดี เป็นความไม่ดี ถือว่าเป็นความชั่ว
ฉะนั้นขอทุกท่าน จงพากันแนะนำในกิจเบื้องต้น ว่าให้ทุกคนทรงศีลเสียให้บริสุทธิ์ อย่าละเมิดศีล และย่อมละเมิดระเบียบประเพณีของเขต นี่เป็นจะที่ 1และ
ประการที่ 2 องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ตรัสว่า
กุสลัสสูปสัมปทา คำว่า กุสลัสสูปสัมปทา ก็หมายความว่า เมื่อเขาละความชั่วแล้ว ให้ทำความดีทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ คือไม่ละเมิดและพยายามรักษาศีลให้ทรงตัว ปฏิบัติตามระเบียบประเพณีให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ศีลที่จะมีขึ้นมาได้ ก็ต้องอาศัยพรหมวิหาร 4 คือ 1. มีใจรักซึ่งกันและกัน ทั้งคนและสัตว์ หวังความเป็นมิตร ไม่คิดเป็นศัตรู ประการที่ 2. มีความสงสาร หวังในการเกื้อกูลซึ่งกันและกันสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในด้านวัตถุ ด้านกำลังกาย และด้านกำลังปัญญา และประการที่ 3 ไม่มีจิตอิจฉาริษยาซึ่งกันและกาน เห็นใครได้ดียินดีในความดีนั้นมีการสอดส่งอพิจารณาว่าทำไม่เขาจึงดี เมื่อรู้เขาดีด้วยเหตุอะไร ก็ปฏิบัติตามเหตุนั้น ตัวก็จะดีด้วย ประการที่ 4 สิ่งใดที่เขาเพลี่ยงพล้ำ เราไม่สามารถจะช่วยได้ เราไม่ซ้ำเติม วางเฉย คอยที่อยู่พร้อมที่จะช่วยเหลือ มีการทำใจอย่างนี้ ปฏิบัติ อย่างนี้ชื่อว่า กุสลัสสูปสัมปทา เป็นการสร้างความดีให้ปรากฏและองค์สมเด็จพระบรมสุคตก็ตรัสเป็น
ข้อที่ 3 ว่า
สจิตตปริโยทปนัง ขอบรรดาท่านทั้งหลายจงแนะนำให้บุคคลทั้งหลาย ได้สร้างเหตุ 3 ประการได้แล้วตรง จงทำจิตใจของบุคคลนั้นให้ผ่องแผ้ว คือ สอนให้เขาแนะนำให้เขาจงทำใจให้ผ่องแผ้ว โดยอันดับแรกก็พยายามระงับนิวรณ์ 5 ประการ ให้จิตเป็นฌาน จิตเป็นฌานธรรมดาในอันดับแรก ที่เรียกกันว่า สุข ด้านของสุกขวิปัสสโกก็ดี และยิ่งกว่านั้น องค์สมเด็จพระชินศรีแนะนำว่า ถ้าจะสามารถให้ได้ในเขตของวิชชาสาม และอภิญญาหก ได้ก็ยิ่งดี เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันในคำสอน ใน
ตอนท้าย องค์สมเด็จพระชินวรทรงแนะนำให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นจงทำลายสังโยชน์ให้สิ้นไป ถ้าไม่เกินวิสัยที่จะพึงรับได้ เพราะว่าคนที่จะรับคำสอนน่ะ มีอยู่ 4 ประเภท
1. อุตฆฏิตัญญู เป็นคนที่มีบุญวาสนาบารมีดี แนะนำประเดี๋ยวเดียวก็สำเร็จอรหัตผล
2. วิปจิตัญญู คนประเภทนี้ปัญญาทรามลงมานิดหนึ่ง พูดน้อยๆ ไม่เข้าใจ อธิบายให้ฟัง จึงจะมีความเข้าใจ และก็เป็นอรหันต์ได้
3. เนยยะ บุคคลประเภทนี้ไม่สามารถจะเป็นพระอริยเจ้าได้ แต่ว่าสอนให้มีความรู้ดี รู้ชอบได้ คือเข้าถึงไตรสรณคมน์ ทรงศีล 5 บริสุทธิ์
4. ปทปรมะ บุคคลประเภทนี้สอนเท่าไหร่ ก็ไม่มี มักไม่มีผล สอนให้คนประเภทนี้ทำดีไม่ได้
เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงแนะนำอย่างนี้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทรงยืนยันว่า องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาคือพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ทรงสอนแบบนี้เหมือนกันหมดท่านทรงยืนยันว่า
1. ทรงสอนว่าให้คนงดความชั่วทั้งหมด
2. สอนให้ทรงไว้ซึ่งความดี
3. แนะนำให้ทำใจผ่องใสจากกิเลส
องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ทรงยืนยันว่า พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทุกท่านแนะนำอย่างนี้เหมือนกันหมด
แหล่งข้อมูล
http://www.watpanonvivek.com/index.php?option=com_content&view=article&id=3190:2012-02-25-20-35-17&catid=37:2010-03-02-03-52-18&Itemid=167